หมวดหมู่: ธปท.

BOAดอน นาครทรรพ


ธปท.เชื่อ ศก.ไทย Q4/62 ฟื้นรับมาตรการรัฐ คงเป้าทั้งปีโต 2.8%

  ธปท. ยอมรับเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/62 อาจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ 2.9% หลังเศรษฐกิจไทย เดือน ก.ย.ยังชะลอตัว ส่งออกหดตัว 1.5% ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/62 จะดีกว่า หลังรัฐอัดฉีดมาตรการกระตุ้น จึงคงเป้าเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 2.8% พร้อมยืนยันสหรัฐตัดสิทธิ GSP มีผลกระทบน้อย

  นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/62 อยู่ในภาวะชะลอตัว จึงคาดว่าเศรษฐกิจอาจขยายตัวไม่ถึง 2.9% ตามที่คาดการณ์ไว้ เพราะการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำหดตัวต่อเนื่อง และ ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชัดเจนขึ้น โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกหมวดการผลิตภาคอุตสาหกรรม และ เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัว มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐ และ การท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำในปีก่อนจากเหตุการณ์เรือล่มของนักท่องเที่ยว

  “ไตรมาส 3 ไม่ได้ดีอย่างที่คาดไว้ ส่งออกเดือนก.ย. เรามองบวกไว้ แต่พอออกมาจริงกับติดลบ เพราะเศรษฐกิจคู่ค้ายังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่ปีนี้เรายังมองส่งออกหดตัว 1% แม้ 9 เดือนจะหดตัว 2.7%”

  สำหรับ เศรษฐกิจไตรมาส 4/62 จะดีกว่าไตรมาส 3/62 โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากนโยบายกระตุ้นของภาครัฐทั้งชิม ช้อป ใช้ เฟส 3 และ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ การท่องเที่ยว ที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ ธปท.จึงยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 2.8% ส่วนปี 63 ประเมินไว้ที่ 3.3%

  สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2562 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การผลิตภาคอุตสาหกรรม และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัว ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวตามรายจ่ายลงทุน และ ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีน และ อินเดียเป็นสำคัญ

  ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน สำหรับอัตราการว่างงานที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน อย่างไรก็ดี จำนวนผู้มีงานทำปรับลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้า ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์

  มูลค่าการส่งออก เดือนกันยายน 62 หดตัว 1.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัว 3.3% โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 จาก ภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว,วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่ฟื้นตัวและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่หดตัวส่งผลให้การส่งออกยังคงหดตัวในหลายหมวดสินค้า อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบางหมวดกลับมาขยายตัว อาทิ การส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าเกษตรแปรรูป และ เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำ และ ได้รับผลดีจากการส่งออกสินค้าทดแทนไปสหรัฐฯ และ จีน รวมทั้งการย้ายฐานการผลิตมาไทยในช่วงก่อนหน้า

  เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเครื่องชี้การลงทุนหมวดเครื่องจักร และ อุปกรณ์หดตัวต่อเนื่องทั้งการนำเข้าสินค้าทุนยอดขายเครื่องจักรในประเทศ และ ยอดจดทะเบียนรถยนต์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจมีกำลังการผลิตเหลือเพียงพอรองรับอุปสงค์ในอนาคต ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างที่ลดลงในเกือบทุกวัตถุประสงค์สอดคล้องกับกิจกรรมในภาคก่อสร้าง และ อสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง

  เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน แม้ในเดือนนี้ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยพยุงกำลังซื้อบางส่วน โดยการใช้จ่ายหมวดบริการ และ หมวดสินค้ากึ่งคงทนที่ขยายตัวสูงขึ้นช่วยชดเชยการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนที่ชะลอลงและการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนที่หดตัวมากขึ้นตามยอดขายรถยนต์ในประเทศสอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมที่แผ่วลงทั้งรายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตรกรรมที่หดตัวต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังคงลดลง และ สินเชื่อรถยนต์ที่ด้อยคุณภาพลงทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อมากขึ้น ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวสอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ชะลอตัว

  การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับมาขยายตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนด้านคมนาคมเป็นสำคัญ ขณะที่รายจ่ายประจำหดตัวตามรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจกลับมาหดตัวตามการเบิกจ่ายของ รฟม. และ ปตท. เป็นหลัก

  มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว4.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าหดตัว 3.5% จากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวสอดคล้องกับภาคการผลิต และ การส่งออก รวมทั้งการนำเข้าน้ำมันดิบที่หดตัวจากทั้งด้านราคาและปริมาณ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันบางแห่ง และ การนำเข้าสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินและแท่นขุดเจาะ โดยเฉพาะอุปกรณ์โทรคมนาคมและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่หดตัวสอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคกลับมาขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ค่อนข้างต่ำ

  จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวเร่งขึ้นที่ 10.1 % จากระยะเดียวกันปีก่อน จากฐานจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต,มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม visa on arrival ที่มีส่วนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีน อินเดีย และ ไต้หวันเพิ่มมากขึ้น และ เหตุความไม่สงบในฮ่องกงที่ทำให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเปลี่ยนเส้นทางมาไทยแทน นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวสัญชาติเอเชียอื่นที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง อาทิ นักท่องเที่ยวลาว ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้

  ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.32% ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามราคาหมวดพลังงานที่หดตัวสูงขึ้นจากผลของฐานสูงในปีก่อน และ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.44% ี่ลดลงตามราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นหลัก สำหรับอัตราการว่างงานที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรมลดลงต่อเนื่องในทุกสาขา ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าจากมูลค่าการส่งออกทองคำที่ลดลง ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์ตามการออกไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นในญี่ปุ่นของภาคสถาบันการเงิน และการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของนักลงทุนไทย โดยเฉพาะการให้กู้ยืมแก่ธุรกิจในเครือ่

  ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ย ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด เพราะคาดไว้ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบเดือน ต.ค.นี้ ส่วนจะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายให้เพิ่มขึ่นหรือไม่นั้น ไม่สามารถระบุได้ เพราะอยู่ในช่วงจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 6 พ.ย. นี้

  ทางด้านกรณีสหรัฐตัดสิทธิ GSP ไทยนั้น ประเมินว่า มีผลต่อส่งออกเล็กน้อย หรือ ประมาณ 0.01% ของมูลค่าการส่งออกรวม

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

aom290

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

ais 790x90GC 950x120

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!